มีผู้อ่านท่านหนึ่งอีเมล์มาบอกว่า ได้เข้าไปอ่านเรื่อง "ข้อมูลประเภทวันที่และเวลา" และ "การกำหนดรูปแบบเซลล์ประเภทวันที่"แล้ว แต่ทำไมไม่เห็นมีเรื่อง "การกำหนดรูปแบบเซลล์ประเภทเวลา" บ้าง? ผมก็มาย้อนดู เออ..จริงด้วย ลืมเขียนถึงเรื่องนี้ไปได้อย่างไร
จากที่ได้เคยเขียนอธิบายไปแล้วในเรื่อง "ข้อมูลประเภทวันที่และเวลา (Date-Time format)" ผู้อ่านคงจะเข้าใจถึงรูปแบบการเก็บข้อมูลเวลาใน Excel แล้วว่า Excel มองเศษ (ทศนิยม) ของวัน (จำนวนเต็ม) เป็นเวลา แล้วใช้การจัดรูปแบบเซลล์ เพื่อแสดงผลเป็นเวลาลักษณะต่างๆ โดยมีตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- h หรือ hh = Hour แทนรูปแบบชั่วโมง แสดงผลเป็นเลขอารบิค
- m หรือ mm = Minute แทนรูปแบบนาที แสดงผลเป็นเลขอารบิค
- s หรือ ss = Second แทนรูปแบบวินาที แสดงผลเป็นเลขอารบิค
- ช หรือ ชช = ชั่วโมง แทนรูปแบบชั่วโมง แสดงผลเป็นเลขไทย
- น หรือ นน = นาที แทนรูปแบบนาที แสดงผลเป็นเลขไทย
- ท หรือ ทท = วินาที แทนรูปแบบวินาที แสดงผลเป็นเลขไทย
ตัวอย่างการจัดรูปแบบเวลา
สมมติว่าขณะนี้คือเวลา 17 นาฬิกา 59 นาที 30 วินาที ก่อนเคารพธงชาติเล็กน้อย เราสามารถจัดรูปแบบเวลาให้กับเซลล์ดังกล่าวได้หลายแบบ ดังตัวอย่างเช่น
- h:mm:ss ได้ผลลัพธ์เป็น 17:59:30
- h:mm AM/PM ได้ผลลัพธ์เป็น 5:59 PM
- ช:นน:ทท ได้ผลลัพธ์เป็น ๑๗:๕๙:๓๐
- "เวลา" ช:นน "น." ได้ผลลัพธ์เป็น เวลา ๑๗:๕๙ น.
- h "Hrs." mm "Min." ss "Sec." ได้ผลลัพธ์เป็น 17 Hrs. 59 Min. 30 Sec.
- h "ชั่วโมง" mm "นาที" ss "วินาที" ได้ผลลัพธ์เป็น 17 ชั่วโมง 59 นาที 30 วินาที
- ฯลฯ เป็นต้น
การหาผลรวมของเวลา
กรณีที่ต้องการรวมจำนวนเวลาจากหลายๆ เซลล์ หากข้อมูลที่จะนำมารวมนั้น อยู่ในรูปแบบของเวลาอยู่แล้ว (ใช้จุดคู่หรือโคลอน คั่นระหว่างชั่วโมง นาที หรือวินาที) ก็สามารถใช้ฟังก์ชัน SUM ได้เช่นเดียวกับการหาผลรวมแบบปกติ
แต่ถ้าผลรวมของเวลานั้น มากกว่า 24 ชั่วโมงขึ้นไป ทุกๆ 24 ชั่วโมงแรก จะถูกปัดไปเป็น 1 วัน โดยจะแสดงเฉพาะเศษของเวลาที่ไม่ถึง 24 ชั่วโมงเท่านั้น เช่น ถ้ารวมได้ 99 ชั่วโมง 39 นาที รูปแบบเวลาของผลลัพธ์ก็จะแสดงแค่ 3:39 เท่านั้น (เพราะ 96 ชั่วโมง หมายถึง 4 วันเต็ม)
หากต้องการให้ผลรวมแสดงเป็น 99:39 ก็สามารถทำได้โดยการจัดรูปแบบเป็น [h]:mm
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น